ขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา

ขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา
 

 
 
ม.ล อัศนี ปราโมช
ม.ล. อัศนี ปราโมช ทายาทของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ผู้นำเสรีไทยสายอเมริกา
หลังญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 หรือ พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยขณะนั้น อยู่ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในช่วงแรกรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นใช้เส้นทางในประเทศเป็นทางผ่านเพื่อเคลื่อนกองกำลังไปยึดพม่ากับมาลายาของอังกฤษ
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หลังจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ทราบข่าวนี้ จึงเข้าพบนายคอเดล ฮัล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐขณะนั้น ทันทีเพื่อแจ้งท่าทีของเขาต่อนายฮัล
ม.ล. อัศนี ปราโมช องคมนตรีและทายาทของ ม.ร.ว. เสนีย์ เล่าให้บีบีซีฟังถึงการพูดจา
ในครั้งนั้น
 คุณพ่อบอกว่ารู้สึกว่าการประกาศสงครามกับอเมริกา ไม่ใช่ประสงค์อันแท้จริงของไทย 
 
ม.ล อัศนี ปราโมช

"คุณพ่อบอกว่ารู้สึกว่าการประกาศสงครามกับอเมริกา ไม่ใช่ประสงค์อันแท้จริงของไทย คอเดล ฮัล ก็บอกว่าไม่ต้อง ส่งให้ผมก็แล้วกัน ท่านก็ไม่ส่ง สภาพศัตรูก็ไม่เกิดขึ้นกับอเมริกา”
ทางบรรดาคนไทยในสหรัฐซึ่งจำนวนมากเป็นนักศึกษา ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่เมืองไทยเพราะเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นผู้รุกราน และ ในที่สุดญี่ปุ่นก็ต้องแพ้ต่อแสนยานุภาพของอเมริกา ไทยก็จะลำบากไปด้วย จึงมีการประชุมกันระหว่าง สถานทูตกับคนไทยในสหรัฐที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาประมาณ 100 กว่าคน เพื่อหาแนวทางดำเนินงาน
คุณเป้า ขำอุไร ซึ่งได้ร่วมประชุมคราวนั้นด้วย เล่าให้ฟังว่ามีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้นเรื่อง หลักการทำงานระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์ กับ นายจก ณ ระนอง นักเรียนไทยคนหนึ่งที่จะสมัครรบ
"ตอนนั้นถกเถียงกันเรื่องว่าจะตั้งเสรีไทยเนี่ย หม่อมเสนีย์บอกว่า รัฐบาลอเมริกานับถือทูตคนเดียว คนอื่นไม่นับถือ เราตั้งเสรีไทยขึ้นมา เขาก็ไม่นับถือ
  คุณจกท้วงว่าพวกจะสมัครเป็นเสรีไทย จะรบให้เพื่อไทย ไม่ใช่สถานทูตไทย
 
เป้า ขำอุไร
คุณจกท้วงว่าพวกจะสมัครเป็นเสรีไทย จะรบให้เพื่อไทย ไม่ใช่สถานทูตไทย”
ในที่สุด ทุกคนที่เข้าประชุมก็ตกลงตั้งกรรมการเสรีไทยขึ้น โดย มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต เป็น ประธาน โดยมีการทำงานแยกออกเป็นสองส่วนคือ การเมือง มีสถานอัครราชทูตรับผิดชอบ การทหาร หรือ กองทหารอาสาสมัครเสรีไทย มี พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับบัญชาฝ่ายไทย
ด้านสหรัฐมี พันตรี นิโคล สมิธ จาก หน่วยกิจการยุทธศาสตร์ หรือ ชื่อย่อ OSS เป็นผู้บังคับบัญชา นักศึกษาไทยได้ที่สมัครในกองทหารนี้ ได้รับการฝึกหลายประการ ที่เน้นในเรื่องการไปหาข่าวและจารกรรม
ศ. ดร. เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ อาสาสมัครเสรีไทยคนหนึ่งเล่าถึงการฝึกทางทหารให้ฟังว่า
“ก็ได้รับการฝึกทางทหาร ทางรหัส โคดเลข ส่งสัญญาณ วิทยุ แล้วก็เดินมา เมื่อเสร็จโรงเรียนสัญญาณก็ไปฝึกกระโดดร่มที่ฟอร์ท เบนนิ่ง จอร์เจีย พวกเราการกระโดดร่ม ต่อมาเมษายน 1943 หรือ 44 เดินทางจากวอชิงตัน ไปอยู่ค่าย 101 ของสหรัฐก็ฝึกอีก”
เจริญ เจริญรัชภาคย์
ศ.ดร.เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ อาสาสมัครเสรีไทยคนหนึ่ง ที่ได้รับการฝึกทางทหารในสหรัฐ
เป้าหมายสำคัญแรกสุดที่ฝ่าย โอเอสเอส ต้องการจากเสรีไทยคือ ให้พวกเขากลับเข้าไทยเพื่อหาข้อมูลว่า มีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในไทยจริงหรือไม่
บวกกับข้อมูลสำคัญทางทหารอื่นๆ เพราะตอนนั้นสหรัฐได้รับการติดต่อว่ามีการตั้ง ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในไทยแล้ว แต่ต้องการการยืนยันที่แน่นอน จึงให้ทหารเสรีไทยเดินเท้าเข้าเมืองไทย ด้วยเครื่องมือสื่อสารจากจีนตอนใต้
คุณเป้า ขำอุไร เป็นเสรีไทยคนหนึ่งในชุดเดินเท้า
เป้า ขำอุไร
คุณเป้า ขำอุไร เสรีไทยสายอเมริกา เดินทางเท้าจากประเทศจีนตอนใต้เข้ามาปฎิบัติเป็นสายในประเทศไทย
“ในชีวิตไม่มีอะไรลำบากเท่ากับเดินทางจากเมืองจีน สารพัดอย่าง ทั้งอดทั้งอยากสารพัดอย่าง”
คุณ เป้า ขำอุไร สามารถเข้าเมืองไทยได้โดยไม่ถูกจับ แต่ก็ต้องไปอยู่ในอารักขาของ ตำรวจสันติบาลอยู่นาน
และในที่สุด คุณเป้า ก็เป็นเสรีไทยอเมริกาคนแรกที่ ส่งวิทยุถึงหน่วยบัญชาการโอเอสเอสที่จีนได้ เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2487 ด้วยความช่วยเหลือของ นายตำรวจสันติบาล ร.ต.อ. พโยม จันทรัคคะ ยศขณะนั้น คุณเป้าเล่าความทุลักทุเลให้ฟัง
“ทีแรก คุณพโยมให้ส่งที่สันติบาล ติดต่อไม่ได้ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร ครั้งที่สอง ที่พระที่นั่งอัมพร ติดต่อไม่ได้ไม่รู้ว่าอะไร ครั้งที่สามคุณโพยมให้ไปบ้านเมียแกที่ ติดกับ ร. พัน 9 สวนอ้อย ติดต่อได้แจ๋วเลย”
หลังจากนั้น เสรีไทยสายอเมริกา พร้อมกับเจ้าหน้าที่ โอเอสเอส ก็ลอบเข้าไปปฎิบัติการในไทย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกคนไทยให้ต่อต้านญี่ปุ่น การส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ หรือ ดูแลสนามบินลับหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำคัญ คือ ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ศ. ดร. เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ อยู่ที่สนามบินภูเขียว
“รายงานการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุน ติดต่อข่าวอากาศให้ทางกรุงเทพฯ ภูเขียวเป็นไง ติดต่อให้เรือบินดาโกดา 47 ลง บางทีมันก็ลงมั่งไมลงมั้ง เขาส่งเสบียง อาวุธ มาให้ ส่งคนบาดเจ็บไปแคนดี้”
กลางปี พ.ศ 2488 เหตุการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเพราะมีท่าทีว่าญี่ปุ่นจะแพ้แน่ ผู้นำขบวนการเสรีไทยก็มีแผนจะให้ทหารไทยกับเสรีไทยลุกขึ้นรบกับญี่ปุ่น แต่ทางสัมพันธมิตรขอให้ชลอไว้ก่อน
การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา กับ นางาซากิ ถือเป็นการช่วยไม่ให้ เกิดเสียเลือดเนื้ออย่างหนักในเมืองไทย
เสรีไทยหลายท่านให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีไทย
ในวันที 15 สิงหาคม พ.ศ 2488 ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตร เสรีไทยสายอเมริกาส่วนใหญ่ก็ขอกลับไปเรียนต่อ หรือกลับไปทำงานเดิมก่อนเป็นเสรีไทย
วิชาความรู้ที่เรียนจากค่ายทหารก็ไม่ได้ใช้อีกเลย ลาภยศก็ไม่ได้อะไร บางท่านได้เหรียญกล้าหาญจากอเมริกา แต่ไม่ได้รับบรรจุเป็นนายทหารในกองทัพบกไทยหลังสงครามสงบ
คุณเป้า ขำอุไร บอกว่า เสรีไทยที่ทำงานตอนนั้น ต้องการช่วยชาติเท่านั้น เรื่องลาภยศสรรเสริญเงินทองไม่คิดถึง
"คิดอย่างเดียวว่า ญี่ปุ่นมันต้องแพ้แน่ๆ แล้วเราจะปล่อยให้ไทยแพ้ตามญี่ปุ่นไปด้วย โดยที่เราไม่ทำอะไรเลย ยอมตาย ยอมตายฮะ”
ติดตามฟังสารคดีเสรีไทยตอนที่ 3 บีบีซีไทยพาไปฟังอดีตเสรีไทยสายอังกฤษ
 
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น